การอ่านหมายเลขโทรศัพท์

การ อ่านหมายเลขโทรศัพท์ แต่เดิมกำหนดให้อ่านเลข “๒” ว่า “โท” เพื่อให้เสียงอ่านเลข “๒”  กับเลข “๓” แตกต่างกัน  เนื่องจากหมายเลขโทรศัพท์ประกอบด้วยตัวเลขหลายตัว บางครั้งอาจมีเลข ๒ และ ๓ อยู่เรียงกันหลายตัว  เสียงอ่านเลข ๒ กับเลข ๓ มีเสียงใกล้เคียงกัน ปัจจุบันระบบโทรศัพท์พัฒนาเจริญก้าวหน้ามาก จึงให้อ่านหมายเลขโทรศัพท์  “๒” ว่า สอง หรือจะอ่านว่า “โท” ก็ได้

๑.  หมายเลขโทรศัพท์ในประเทศ

องค์การ โทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนหมายเลขโทรศัพท์ทั่วประเทศ ทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่  โดยกำหนดรูปแบบเลขหมายใหม่เพื่อรองรับการใช้งานเบื้องต้น ๙๐ ล้านเลขหมาย  รวมหมายเลขรหัสทางไกล หรือรหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีอยู่เดิมเข้ากับหมายเลขโทรศัพท์ เป็นหมายเลข ๙ หลัก   การอ่านหมายเลขโทรศัพท์ซึ่งเดิมจะอ่านหมายเลขรหัสทางไกล หรือรหัสโทรศัพท์เคลื่อนที่ก่อนแล้วจึงอ่านหมายเลขโทรศัพท์ ปัจจุบันการเขียนและการอ่านหมายเลขโทรศัพท์ตามระบบที่เปลี่ยนใหม่ เป็นดังนี้

ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งเดิมมีรหัสทางไกล ๐๒   เขียนดังนี้

หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๕๓๑ ๓๒๓๔*
อ่านว่า  หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ   สูน-สอง-ห้า-สาม-หฺนึ่ง   สาม-สอง-สาม-สี่
หรือ      หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ   สูน-โท-ห้า-สาม-หฺนึ่ง   สาม-โท-สาม-สี่

หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๒๖๔๓ ๕๑๕๑-๒๒
อ่านว่า  หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ   สูน-สอง-หก-สี่-สาม   ห้า-หฺนึ่ง-ห้า-หฺนึ่ง  ถึง สอง-สอง

ในต่างจังหวัด  เช่น จังหวัดเพชรบุรี  ซึ่งเดิมมีรหัสทางไกล (๐๓๒) เขียนดังนี้

หมายเลขโทรศัพท์ ๐  ๓๒๒๑  ๑๒๓๔
อ่านว่า   หฺฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ  สูน  สาม-สอง-สอง-หฺนึ่ง  หฺนึ่ง-สอง-สาม-สี่
หรือ       หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ  สูน  สาม-โท-โท-หฺนึ่ง  หฺนึ่ง-โท-สาม-สี่

– หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งมีรหัส ๐๑  ๐๙  ๐๖  เขียนดังนี้
๐ ๑๕๕๓ ๐๗๔๓    ๐ ๙๕๕๓ ๐๗๔๓    ๐ ๖๕๕๓ ๐๗๕๓
การอ่านให้อ่านเช่นเดียวกับโทรศัพท์ภายในประเทศ
 

   ๒. หมายเลขโทรศัพท์ระหว่างประเทศ

หมายเลขโทรศัพท์ระหว่างประเทศจะประกอบด้วยเครื่องหมาย “+” ซึ่งเป็นเครื่องหมายรหัสทางไกลต่างประเทศ (International Prefix) เพื่อให้ทราบว่าในการเรียกทางไกลต่างประเทศต้องหมุนหรือกดรหัสทางไกลต่าง ประเทศก่อน ตามด้วยตัวเลขที่เป็นรหัสประเทศ  รหัสเมือง และหมายเลขโทรศัพท์ ตามลำดับ แบ่งเป็น ๒ ประเภท

๒.๑ การเรียกออกต่างประเทศ
รหัส เรียกออกทางไกลต่างประเทศสำหรับประเทศไทย คือ  ๐๐๑  และ ๐๐๗   ซึ่งเป็นรหัสเรียกออกทางไกลต่างประเทศเฉพาะประเทศมาเลเซีย พม่า ลาว และกัมพูชา เช่น

๐๐๑ + ๓๓  ๘๘  ๓๗๑-๖๙๑
อ่านว่า   ระ-หัด-เรียก-ทาง-ไกฺล-ต่าง-ปฺระ-เทด  สูน-สูน-หนึ่ง  ระ-หัด-ปฺระ-เทด  สาม-สาม  ระ-หัด-เมือง แปด-แปด  หฺมาย-เลข-โท-ระ-สับ  สาม-เจ็ด-หนึ่ง-หก-เก้า-หฺนึ่ง

๐๐๗ + ๙๕-๑  ๒๒๑๘๘๑
อ่านว่า   ระ-หัด-เรียก-ทาง-ไกฺล-ต่าง-ปฺระ-เทด  สูน-สูน-เจ็ด  เก้า-ห้า  หฺนึ่ง สอง-สอง-หฺนึ่ง-แปด-แปด-หนึ่ง
หรือ  ระ-หัด-เรียก-ทาง-ไกฺล-ต่าง-ปฺระ-เทด  สูน-สูน-เจ็ด  เก้า-ห้า  หฺนึ่ง โท-โท-หฺนึ่ง-แปด-แปด-หฺนึ่ง

๒.๒ การเรียกเข้าจากต่างประเทศ

รหัสเรียกเข้าทางไกลจากต่างประเทศ คือ ๖๖ เช่น

๖๖ ๒๒๘๒ ๒๒๖๙
อ่านว่า   ระ-หัด-เรียก-ทาง-ไกฺล-ต่าง-ปฺระ-เทด  หก-หก  สอง-สอง-แปด-สอง  สอง-สอง-หก-เก้า
หรือ  ระ-หัด-เรียก-ทาง-ไกฺล-ต่าง-ปฺระ-เทด  หก-หก  โท-โท-แปด-โท  โท-โท-หก-เก้า

โทรศัพท์ระบบบริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์ (audiotex) ซึ่งมีเลขจำนวน ๑๐ ตัวประกอบด้วย ตัวเลขกลุ่มแรก ๔ ตัว  เป็นรหัสบอกระบบ กลุ่มที่สอง จำนวน ๓ ตัว เป็นรหัสของเจ้าของกิจการนั้น และกลุ่มที่สามมีจำนวน ๓ ตัว เป็นรหัสประเภทการบริการ การเขียนหมายเลขโทรศัพท์ระบบนี้ ให้เขียนแยกเป็น ๓ กลุ่ม การอ่านให้อ่านแบบเรียงตัว เช่น

๑๙๐๐  ๑๑๑  ๐๐๐
อ่านว่า     หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ- หฺนึ่ง-เก้า-สูน-สูน  หฺนึ่ง-หฺนึ่ง-หฺนึ่ง  สูน-สูน-สูน

โทรศัพท์ ระบบบริการข้อมูลด้วยเสียงทางโทรศัพท์โดยใช้พนักงานรับสาย (BUG) จะมีเลขจำนวน ๔ ตัว ซึ่งเจ้าของกิจการเป็นผู้กำหนดขึ้นเองเพื่อให้จดจำง่าย ให้เขียนหมายเลขทั้ง ๔ ตัว เป็นกลุ่มเดียวกัน และอ่านตัวเลขแบบเรียงตัว ดังนี้

๑๒๑๓  อ่านว่า  หฺมาย-เลก-โท-ระ-สับ  หฺนึ่ง-สอง-หฺนึ่ง-สาม

ที่มา  หนังสือ อ่านอย่างไร และ เขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งที่ ๑๖, กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ หน้า ๗๓-๗๗

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.royin.go.th/?page_id=10346

แนะนำหนังสือออกใหม่>>

กิจกรรมการอ่านเพื่อการเรียนรู้ภาษาไทยตามแนวPISA

 

ดูเพิ่ม รายการหนังสือและซีดีเสริมการเรียนรู้ที่เน้น BBL และ Active Learning ปี2560-2561